วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ภูมิทัศน์ และอาคารสถานที่ (๑) Location and buildings


ทีปภาวันธรรมสถาน ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ซึ่งภายในบริเวณ จะมีที่ราบลดหลั่นกันอยู่เป็นชั้นๆ อาคารสถานที่จึงถูกสร้างขึ้น ด้วยการปรับประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ และประโยชน์ใช้สอย เป็นหลัก ตามแนวคิดการก่อสร้างของหลวงพ่อโพธิ์ที่ว่า ให้ประหยัดมากที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อาคารสิ่งปลูกสร้าง จึงมีเท่าที่จำเป็น ในขณะเดียวกัน ด้วยสถานที่ตั้ง และรูปแบบการก่อสร้าง ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้

พื้นที่ของทีปภาวันธรรมสถาน มีเนินต่างระดับ อยู่ ๓ ช่วงหลักๆ ตามระดับความสูงที่ต่างกันไป คือ เขตเนินชั้นล่าง หรือโซนล่าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ อาคารโรงครัว ห้องสมุด ที่จอดรถ และอาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรมสตรี


โซนกลาง หรือเขตเนินที่ราบชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของ ศาลาฐานิยารมณ์ ซึ่งเป็นศาลาปฏิบัติเอนกประสงค์ ฐานล่างทำเป็นที่เก็บน้ำ ด้านบนเป็นที่สนทนาธรรม และ ออกกำลังกาย หรือพักอิริยาบถของผู้ปฏิบัติ และยังมี กุฏิ หรือ เรือนพักอาคันตุกะ อีกสองหลังที่อยู่เยื้องกัน โดยมีถนนทางขึ้นสู่เนินที่ราบด้านบนสุด ที่ปูด้วยอิฐตัวหนอนกั้นอยู่ระหว่างกลาง
สำหรับเขตเนินชั้นบนสุด เป็นที่ตั้งของ ลานธรรม ซึ่งมีองค์พระพุทธปฏิมาประดิษฐานอยู่ โดยมีซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน และต้นโพธิ์อยู่ด้านหลังองค์พระพุทธปฏิมา ที่ลานธรรมนี้ ยังเป็นที่เดินจงกรม และประกอบพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


ที่มุมสุดด้านหนึ่งของเนินมีม้าหินอ่อน ที่นั่งอ่านหนังสือ หรือพักอิริยาบถ ซึ่งเป็นมุมโปรดของผู้ปฏิบัติธรรม เพราะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ประกอบด้วย พื้นที่ภูเขาที่ทอดยาว และเขียวครึ้มด้วยต้นไม้ และเชิงเขาที่ค่อยลดหลั่นลงไป โดยมีท้องฟ้ากว้าง และผืนทะเลสีฟ้าคราม เป็นฉากหลัง อีกทั้งยังสามารถมองเห็น พื้นที่ของชุมชนที่บริเวณพื้นราบด้านล่าง และชายทะเลอีกด้วย นอกจากนี้ ยังศาลาปฏิบัติธรรมรวม ซึ่งชั้นล่างเป็นที่พักของผู้ปฏิบัติธรรมชาย และ กุฏิสงฆ์อีก ๒ หลัง ศาลาพักอิริยาบถ ซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลาปฏิบัติธรรมอีก ๑ หลัง


บนพื้นที่ของทีปภาวันธรรมสถาน แทบทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นเขตชั้นล่าง ชั้นกลาง และชั้นบน เป็นจุดชมทิวทัศน์ ที่สามารถมองเห็นภาพทิวทัศน์ ที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์ และสวยงามตามแบบฉบับของเกาะสมุย ซึ่งประกอบด้วย ภูเขา ป่าไม้ ต้นมะพร้าว และท้องทะเล โดยแต่ละจุดที่ยืนอยู่ ก็ให้มุมมองและภาพของทิวทัศน์ที่ต่างกันไป สำหรับผู้ปฏิบัติบางท่าน ที่อาจเกิดอาการเคร่งเครียด เพราะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติเกินไป ก็สามารถผ่อนคลาย ด้วยการชมทิวทัศน์สักครู่ ก่อนเข้าสู่อารมณ์การปฏิบัติต่อ


นอกเหนือจากส่วนดังกล่าวแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หลัก ยังมีพื้นที่สวนทุเรียน ซึ่งต้องเดินตามถนนที่ตัดผ่านสำนักออกด้านหลัง และขึ้นสู่ภูเขาที่สูงชันอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นทางผ่านเพื่อขึ้นไปสู่ลานธรรมขีรธารา โดยที่สวนทุเรียนจะมีกุฏิปลีกวิเวกสำหรับพระสองหลัง และในพื้นที่สุดเขตสวนทุเรียน ถัดไปจากกุฏิสงฆ์หลังแรก ยังมีเงื้อมธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ วางซ้อนทับกันจนเกิดส่วนที่โพลงว่างด้านล่าง ที่คล้ายถ้ำตามธรรมชาติ


ด้วยความสูงชัน และไม่สม่ำเสมอ ของพื้นที่ เส้นทางเดินระหว่างโซนหนึ่งไปยังอีกโซนหนึ่งภายในสำนัก จึงออกแบบให้เคี้ยวไปตามสภาพพื้นที่ โดยเน้นความปลอดภัยและเดินได้สะดวก ด้วยการปูอิฐบล็อกตัวหนอน และมีราวจับในช่วงที่ค่อนข้างชัน ผู้ปฏิบัติอาจพบกับความไม่สะดวกบ้างในเรื่องนี้ แต่ก็มีข้อดีอยู่ที่ ทำให้เราเกิดสติระมัดระวังตัว และได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย


ในบทความนี้ และบทความลำดับต่อๆ ไป ผู้เขียนขอนำเสนอภาพของอาคารสถานที่ พร้อมทั้งภูมิทัศน์ภายในและโดยรอบของทีปภาวันธรรมสถาน เพื่อเป็นการแนะนำ และนำชมสถานที่ ทั้งนี้ ขอขอบคุณคุณพรรณนิภา และแม่ชีอัญชนา ที่ได้เอื้อเฟื้อภาพถ่ายหลายภาพ ทำให้ผู้เขียนได้ภาพของสถานที่ และบริเวณโดยรอบ มานำเสนอ เกือบครบสมบูรณ์


เืมื่อเข้าสู่เขตทีปภาวันธรรมสถาน จะพบป้ายชื่อสำนัก



ด้านหลังป้ายเป็นข้อความต้อนรับสาธุชน
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาวนา และผู้มาเยี่ยมชม



อาคารโรงครัว ด้านบนใช้ประกอบพิธีในวันพระ
ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ ของทางเข้าสู่สำนัก



ด้านล่างเป็นที่รับประทานอาหารของผู้ปฏิบัติธรรม



ห้องครัว ที่ปรุงและจัดเตรียมอาหารที่เป็นสับปายะ
สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม



ฝึมือการทำอาหารของคณะแม่ครัว คือหนึ่งในความประทับใจ
ของผู้มาปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวันธรรมสถาน




อาคารห้องสมุด อยู่ติดกับอาคารโรงครัว




ห้องสมุดอีกมุมหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น