วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ต่างชาติ ไม่ต่างธรรม



หลวงพ่อโพธิ์ ขณะบรรยายธรรมะภาคภาษาอังกฤษ

ความสนใจการฝึกสมาธิ หรือจิตภาวนา ได้แพร่หลายไปในหลายส่วนของโลก พร้อมๆ กันนั้น การสอนสมาธิก็แพร่หลายไปในประเทศแถบนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งมีแนวการสอน หรือเทคนิควิธีการฝึกหัดที่แตกต่างกันออกไป โดยมีศาสนาพุทธ สายเถรวาทจากไทย พม่า ศรีลังกา สายวัชรยานของทิเบต สายเซ็น จากทางญี่ปุ่น และแนวโยคะศาตร์ของทางศาสนาฮินดู เป็นต้นแบบและทางเลือกหลักสำหรับผู้สนใจเข้ามาศึกษา และฝึกหัดปฏิบัติ

การฝึกจิตใจ จึงถือเป็นภูมิปัญญาทางตะวันออกโดยเฉพาะ โดยเฉพาะสายตาของนักการศึกษาทางตะวันตกนั้น พระพุทธศาสนาจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นศาสนาซึ่งมีสิ่งที่เรียกว่า สติ สมาธิ วิปัสสนา มีวิธีการที่จะทำให้จิตมีความสงบ มีความสุขที่ลึกซึ้ง มีหลักการหรือปรัชญาที่ให้คำอธิบายความจริงของชีวิตหรือสรรพสิ่งได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้

ในจำนวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวต่างประเทศเหล่านั้นว่า เป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งยังมีความเข้มข้นในการฝึกหัดศาสตร์ด้านสมาธิภาวนา มีแนวการฝึกที่หลากหลาย มีครูบาอาจารย์ที่ให้การสั่งสอนอบรมอยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศไทย จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของชาวตะวันตกที่สนใจการฝึกสมาธิภาวนาตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

ตัวอย่างปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้แก่สวนโมกข์นานาชาติ ซึ่งหลวงพ่อโพธิ์ เป็นองค์สนองงานในส่วนนี้ จากการดำริของหลวงพ่อพุทธทาส นับตั้งแต่เริ่มแรก โดยเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลการก่อสร้าง ไปจนถึงการจัดฝึกอบรม โดยมีลูกศิษย์ของหลวงพ่อพุทธทาสหลายท่าน ร่วมสนับสนุนสนองงานส่วนนี้ ทำให้สวนโมกข์นานาชาติในปัจจุบัน เป็นสถานฝึกอบรมสมาธิที่ชาวต่างชาติเดินทางมาฝึกอบรมกันเดือนละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คน นับถึงปัจจุบัน มีชาวต่างชาติที่มาอบรมฝึกสมาธิภาวนาที่นี่ผ่านไปแล้ว ไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้ ยังไม่นับชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาหรือฝึกปฏิบัติในแนวปฏิบัติของสายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งที่มีจิตศรัทธาถึงขนาดปลงผมออกบวช เพื่อทุ่มเทชีวิตศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจังก็เป็นจำนวนมาก

ชาวต่างประเทศขณะนั่งสมาธิภาวนา

ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของสวนธรรมเภรี

การก่อตั้งทีปภาวันธรรมสถาน โดยดำริของหลวงพ่อโพธิ์นั้น นอกจากจะเพื่อให้การศึกษาพุทธศาสนา ด้านการปฏิบัติจิตภาวนาแก่ชาวไทยโดยเฉพาะแล้ว ชาวต่างประเทศก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ของหลวงพ่อโพธิ์ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากท่านเห็นว่า เกาะสมุยอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยนั้น ไม่ควรจะมีดีอย่างโลกๆไว้ให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวชื่นชมเท่านั้น ควรมีมิติด้านคุณธรรมหรือจิตใจให้เขาได้รู้ได้เห็น และเป็นทางเลือกหนึ่งไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าในแง่ของการเผยแผ่พระศาสนา ก็ถือเป็นการกระจายแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ครอบคลุมไปในพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย

นับตั้งแต่การก่อตั้งทีปภาวันธรรมสถานเสร็จสิ้น ก็ได้มีการเปิดอบรมธรรมปฏิบัติแก่ชาวต่างประเทศ ควบคู่ไปด้วย โดยใช้ภาษาอังกฤษในการอบรม ซึ่งหลวงพ่อพระภาวนาโพธิคุณ หรือ หลวงพ่อโพธิ์ เป็นผู้ให้การฝึกอบรมเป็นภาษาอังกฤษด้วยตนเอง นอกจากนั้น ยังมีอาสาสมัครชาวต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ในการฝึกอบรมธรรมปฏิบัติมาจากสวนโมกข์นานาชาติแล้วหลายครั้ง มาเป็นผู้ช่วยในส่วนอื่นๆ และยังมีชาวไทยผู้มีความศรัทธาในพระศาสนา มีความรู้ทั้งทางด้านปฏิบัติและทฤษฎี มีใจรักงานบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครด้วย

ตลอดเวลา ๖ ปีที่ผ่านมา มีชาวต่างประเทศ ที่เดินทางจากประเทศต่างๆ ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในแถบเอเชียเอง ได้เข้ามารับการฝึกปฏิบัติที่ทีปภาวันธรรมสถานแล้วหลายรุ่น จำนวนชาวต่างประเทศที่ผ่านการฝึกปฏิบัติจิตภาวนาจากที่นี่ จึงมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทีปภาวันธรรมสถานเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นหมู่ชาวต่างประเทศที่มีความสนใจในการฝึกจิตภาวนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น