วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สามเณรเยาวชนเกาะสมุย เข้าอบรมธรรมปฏิบัติที่ทีปภาวัน


ระหว่างวันที่ ๒๐ ตุลาคม ถึง วันที่ ๕ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงปิดเรียนภาคต้น เยาวชนลูกหลานชาวเกาะสมุย ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนทั่วเกาะสมุยจำนวน ๙๖ คน ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระภาวนาโพธิคุณ (หลวงพ่อโพธิ์) ได้มอบหมายให้คณะพระอาจารย์จากสวนโมกขพลาราม มาเป็นพระพี่เลี้ยง และเป็นวิทยากร ผู้ให้การฝึกอบรมตลอดช่วงเวลาบรรพชา


พระอาจารย์นำสามเณรฝึกนั่งสมาธิ

นอกเหนือจากการฝึกอบรมด้านจริยธรรม และความรู้ทางพระพุทธศาสนาทั่วไปแล้ว สามเณร ๙๖ รูป ยังได้เข้ารับการฝึกอบรมธรรมะภาคปฏิบัติร่วมด้วย ซึ่งทางทีปภาวันธรรมสถาน ได้ถวายการอุปถัมภ์อำนวยความสะดวกในส่วนของการฝึกอบรมธรรมะภาคปฏิบัติในครั้งนี้


เดินจงกรมที่ลานธรรม

เยาวชนในวัยนี้ พร้อมจะซึมซับรับเอาสิ่งต่างๆ ทั้งด้านดีและไม่ดีได้โดยง่าย การบวชเข้ามารับการฝึกฝน แม้จะเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ถือว่าเป็นการบ่มเพาะหรือปลูกฝัง คุณธรรม ที่มีส่วนสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตของเยาวชนเหล่านี้ เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีความสุขอย่างยั่งยืน และแท้จริง ตามที่ผู้ปกครองและสังคมคาดหวังได้


สามเณรเดินแถวด้วยความเรียบร้อยลงไปรับภัตตาหารเช้าที่โรงฉัน

หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า "ศีลธรรมของเยาวชน คืออนาคตของโลก" จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ปรารถนาจะเห็นอนาคตที่ดีงามของสังคม ควรต้องช่วยกับประคับประคอง ชักจูง โน้มน้าว หรือหาวิธีการที่จะทำให้เยาวชนไม่เหินห่าง จากวิถีการดำเนินชีวิตที่อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมจรรยา


เตรียมตัวรับภัตตาหารเช้าด้วยความสงบสำรวม

นี้จึงเป็นหนึ่งในโครงการ ที่หลายฝ่ายในเกาะสมุยได้ส่งเสริมและสนับสนุน เป็นตัวอย่างแห่งความร่วมมือ ที่จะช่วยผลักดัน ให้จุดประสงค์ดังกล่าวเป็นจริง และสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาได้

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ต่างชาติ ไม่ต่างธรรม



หลวงพ่อโพธิ์ ขณะบรรยายธรรมะภาคภาษาอังกฤษ

ความสนใจการฝึกสมาธิ หรือจิตภาวนา ได้แพร่หลายไปในหลายส่วนของโลก พร้อมๆ กันนั้น การสอนสมาธิก็แพร่หลายไปในประเทศแถบนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งมีแนวการสอน หรือเทคนิควิธีการฝึกหัดที่แตกต่างกันออกไป โดยมีศาสนาพุทธ สายเถรวาทจากไทย พม่า ศรีลังกา สายวัชรยานของทิเบต สายเซ็น จากทางญี่ปุ่น และแนวโยคะศาตร์ของทางศาสนาฮินดู เป็นต้นแบบและทางเลือกหลักสำหรับผู้สนใจเข้ามาศึกษา และฝึกหัดปฏิบัติ

การฝึกจิตใจ จึงถือเป็นภูมิปัญญาทางตะวันออกโดยเฉพาะ โดยเฉพาะสายตาของนักการศึกษาทางตะวันตกนั้น พระพุทธศาสนาจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นศาสนาซึ่งมีสิ่งที่เรียกว่า สติ สมาธิ วิปัสสนา มีวิธีการที่จะทำให้จิตมีความสงบ มีความสุขที่ลึกซึ้ง มีหลักการหรือปรัชญาที่ให้คำอธิบายความจริงของชีวิตหรือสรรพสิ่งได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้

ในจำนวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวต่างประเทศเหล่านั้นว่า เป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งยังมีความเข้มข้นในการฝึกหัดศาสตร์ด้านสมาธิภาวนา มีแนวการฝึกที่หลากหลาย มีครูบาอาจารย์ที่ให้การสั่งสอนอบรมอยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศไทย จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของชาวตะวันตกที่สนใจการฝึกสมาธิภาวนาตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

ตัวอย่างปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้แก่สวนโมกข์นานาชาติ ซึ่งหลวงพ่อโพธิ์ เป็นองค์สนองงานในส่วนนี้ จากการดำริของหลวงพ่อพุทธทาส นับตั้งแต่เริ่มแรก โดยเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลการก่อสร้าง ไปจนถึงการจัดฝึกอบรม โดยมีลูกศิษย์ของหลวงพ่อพุทธทาสหลายท่าน ร่วมสนับสนุนสนองงานส่วนนี้ ทำให้สวนโมกข์นานาชาติในปัจจุบัน เป็นสถานฝึกอบรมสมาธิที่ชาวต่างชาติเดินทางมาฝึกอบรมกันเดือนละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คน นับถึงปัจจุบัน มีชาวต่างชาติที่มาอบรมฝึกสมาธิภาวนาที่นี่ผ่านไปแล้ว ไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้ ยังไม่นับชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาหรือฝึกปฏิบัติในแนวปฏิบัติของสายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งที่มีจิตศรัทธาถึงขนาดปลงผมออกบวช เพื่อทุ่มเทชีวิตศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจังก็เป็นจำนวนมาก

ชาวต่างประเทศขณะนั่งสมาธิภาวนา

ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของสวนธรรมเภรี

การก่อตั้งทีปภาวันธรรมสถาน โดยดำริของหลวงพ่อโพธิ์นั้น นอกจากจะเพื่อให้การศึกษาพุทธศาสนา ด้านการปฏิบัติจิตภาวนาแก่ชาวไทยโดยเฉพาะแล้ว ชาวต่างประเทศก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ของหลวงพ่อโพธิ์ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากท่านเห็นว่า เกาะสมุยอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยนั้น ไม่ควรจะมีดีอย่างโลกๆไว้ให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวชื่นชมเท่านั้น ควรมีมิติด้านคุณธรรมหรือจิตใจให้เขาได้รู้ได้เห็น และเป็นทางเลือกหนึ่งไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าในแง่ของการเผยแผ่พระศาสนา ก็ถือเป็นการกระจายแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ครอบคลุมไปในพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย

นับตั้งแต่การก่อตั้งทีปภาวันธรรมสถานเสร็จสิ้น ก็ได้มีการเปิดอบรมธรรมปฏิบัติแก่ชาวต่างประเทศ ควบคู่ไปด้วย โดยใช้ภาษาอังกฤษในการอบรม ซึ่งหลวงพ่อพระภาวนาโพธิคุณ หรือ หลวงพ่อโพธิ์ เป็นผู้ให้การฝึกอบรมเป็นภาษาอังกฤษด้วยตนเอง นอกจากนั้น ยังมีอาสาสมัครชาวต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ในการฝึกอบรมธรรมปฏิบัติมาจากสวนโมกข์นานาชาติแล้วหลายครั้ง มาเป็นผู้ช่วยในส่วนอื่นๆ และยังมีชาวไทยผู้มีความศรัทธาในพระศาสนา มีความรู้ทั้งทางด้านปฏิบัติและทฤษฎี มีใจรักงานบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครด้วย

ตลอดเวลา ๖ ปีที่ผ่านมา มีชาวต่างประเทศ ที่เดินทางจากประเทศต่างๆ ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในแถบเอเชียเอง ได้เข้ามารับการฝึกปฏิบัติที่ทีปภาวันธรรมสถานแล้วหลายรุ่น จำนวนชาวต่างประเทศที่ผ่านการฝึกปฏิบัติจิตภาวนาจากที่นี่ จึงมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทีปภาวันธรรมสถานเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นหมู่ชาวต่างประเทศที่มีความสนใจในการฝึกจิตภาวนา

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ต้นทางธรรม ต้นทางชีวิต // Surrounding Landscape


ต้นทางธรรม ต้นทางชีวิต

เมื่อชีวิตเริ่มต้น ความจำเป็นแห่งธรรมะก็เริ่มขึ้น

ธรรมะ คือ หลักความจริงของชีวิต

และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักความจริงนั้น

ตลอดระยะเวลา แห่งความเป็นไปและเปลี่ยนแปลงของชีวิต

แห่งเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ทั้งรอบตัวในตัว ที่วนเวียนผันผ่านเข้ามาในทางชีวิต

เพื่อให้ชีวิตเริ่มต้น ดำเนินไป และจบลง อย่างถูกทาง

มีธรรมะระดับต้น เพื่ออยู่ในโลกได้อย่างราบรื่น รื่นรมย์ ไม่ขวางโลก ไม่รกโลก

มีธรรมะระดับสูง เพื่ออยู่ในโลก อย่างเข้าใจโลก ไม่แบกโลก ไม่ถูกโลกทับ

และหากต้องจากโลกนี้ไป ก็ไม่อาลัยในโลก



หากเกาะสมุยขาดต้นมะพร้าว หรือแม้แต่น้อยลง เกาะสมุยจะขาดเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ไปทันที
หวังว่าชาวสมุย และผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ คงจะไม่ลืมความจริงข้อนี้




มองจากพื้นที่ภายในทีปภาวันธรรมสถานออกไปยังอีกด้านหนึ่ง
จะเห็นแนวสันเขาที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าว




ที่ลาดเนินเขา เต็มไปด้วยกลุ่มต้นมะพร้าว
คนพื้นที่เห็นเป็นธรรมดา คนต่างถิ่นเห็นแปลกตา




ป่าบริเวณภูเขา ด้านหลังทีปภาวันธรรมสถาน
ยังมีความชุ่มชื่นและมีความสมบูรณ์ด้านพืชพันธุ์พอสมควร




ก้อนหินใหญ่ที่เห็น ก็ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเดียวกัน
สามารถมองเห็นได้ จากถนนเส้นที่ตัดผ่านชุมชนหัวถนน




มองด้วยสายตาจากภาพ คงประเมินขนาดได้ยาก ผู้เขียนเคยปีนขึ้นไปด้านบนของหินก้อนนี้ จะเป็นลานหินพื้นราบ กว้างไม่ต่ำกว่า ๑๕ ตารางเมตร เมื่อมองจากด้านบน จะเห็นทิวทัศน์ ท้องทะเล และชายเขาด้านล่าง พร้อมทั้งชุมชมชายฝั่งทะเล ได้อย่างกว้างไกล




เป็นหินก้อนเดียวกัน เมื่อมองจากอีกด้านหนึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่ทีเดียว





ทางผ่านขึ้นสู่เขาที่ตั้งของป่าผืนดังกล่าว
และเป็นทางผ่านขึ้นสู่พื้นที่ด้านบนของทีปภาวันธรรมสถาน
และลานธรรมขีรธารา




บริเวณพื้นที่ลุ่มบางช่วง บนเชิงเขา จะมีก้อนหินขนาดและรูปทรงต่างๆ
กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ หากสังเกตจะเห็นว่า หินที่เกาะสมุยจะมีลักษณะพิเศษ
คล้ายเกิดจากเม็ดกรวดเม็ดทรายเล็กๆ อัดรวมตัวกัน




โขดหินวางซ้อนกันที่เห็นอยู่ ป๋องแป๋ง
ลูกชายจอมแ่ก่นของช่างประดิษฐ์ (ปี ๒๕๕๐) ชีื้้ให้ผู้เขียนถ่ายภาพไว้ ป๋องแป๋งบอกว่า เหมือนจานบิน
ตามธรรมชาติของเด็กที่่ช่างจินตนาการ
Overlap Stone ที่เกาะสมุยมีอยู่หลายแห่ง ถ้าเป็นก้อนขนาดใหญ่ ก็จะกลายเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ขึ้นไปชม ที่เห็นในภาพยังถือว่า มีขนาดเล็ก




ฤดูฝน น้ำจะไหลลงจากบริเวณสันเขาด้านบน ผ่านช่องทางระหว่างโขดหินใหญ่น้อย
เป็นระบบชลประทานธรรมชาติ ที่เป็นมาเนิ่นนาน




ปีแล้วปีเล่า กระแสน้ำกัดเซาะ จนทำให้หินที่แข็งแกร่งยังทนทานไม่ไหว
กลายสภาพเป็นร่องทางน้ำไหล





ป่าเขา และลำน้ำ เป็นสิ่งคู่กัน และเกื้อกูลกันและกัน
และยังเกื้อกูลชีวิตชุมชนมากมายบนเกาะสมุย





ทีปภาวันธรรมสถาน ก็อาศัยแหล่งน้ำที่ไหลมาจากสันเขาด้านบน
เพื่อใช้อุปโภคภายในสำนัก





ในบางช่วง น้ำมีไม่มากขนาดนี้ บางช่วงก็น้ำก็แห้งขาดหายไป
คงมีให้เห็นเฉพาะทางน้ำเท่านั้น




ก้อนหินขนาดใหญ่น้อย วางทับกันไม่แนบสนิท เกิดเป็นโพลงหิน คล้ายชะง่อน หรือเงื้อมเขา
สามารถเป็นที่หลบฝน หรือนั่งพักภาวนาได้


วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อธิบายภาพปริศนาธรรมบนศาลาปฏิบัติธรรม


เกิดมาทำไม

ที่ผนังด้านหลังของศาลาปฏิบัติธรรมจะมีภาพปริศนาธรรมอยู่ ๑๐ ภาพ เป็นภาพสรุปให้เห็นว่า วิถีชีวิตของคนคนหนึ่งที่เกิดมาแล้ว อยู่ในสภาพเช่นใด และควรจะให้ดำเนินไปในทิศทางใด ่จึงจะได้ชื่อว่า ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ากับการเกิดมามากที่สุด

๒ ๑

ภาพที่ ๑ ด้านขวามือ ชายหนุ่มกำลังเดินตามหาอะไรอย่าง ท่ามกลางป่าเขา

เป็นภาพเปรียบเทียบ แทนชีวิตทั่วๆ ไป ที่เกิดมาแล้ว ใช้ชีวิตไปตามจุดหมายระดับสัญชาตญาณทั่วๆ ไป คือ เกิดมา เติบโต เล่าเรียนศึกษา เพื่อฝึกหัดวิชาอาชีพ แล้วทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของตน และครอบครัว แสวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทางกามคุณ หรือวัตถุกาม ระหว่างนั้น ก็ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง จนถึงวาระ แก่ เจ็บ ตาย ไปตามวิถีชีวิตของคนทั่วๆ ไป แต่ตลอดชีวิต ก็ไม่เคยตั้งคำถาม หรือแสวงหาจุดมุ่งหมาย คุณค่าของชีวิต ว่ามีอะไรมากไปกว่านั้น ประเสริฐ ประณีต มากกว่านั้นหรือเปล่า

ภาพที่ ๒ เขาเห็นร่องรอยของสิ่งที่กำลังตามหาแล้ว

เปรียบเหมือนคนที่ตั้งคำถามกับตนเองว่า ชีวิตเกิดมาทำไม อะไรควรเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ของการเกิดมาที่ชีวิตควรได้ ควรไปให้ถึง แล้วเริ่มแสวงหาคำตอบ

๔ ๓



ภาพที่ ๓ เขาตามรอยไป พบสิ่งที่เขาตามหาคือโค

เขาอาศัยการศึกษาหลักในพระพุทธศาสนา จากกัลยาณมิตร เ่ช่น พระ ครูบาอาจารย์ หรือแหล่งข้อมูลทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง จนได้คำตอบว่า ชีวิตควรมีจุดมุ่งหมาย ๓ อย่าง คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ คือ จุดมุ่งหมายภายนอก หรือเป้าหมายในปัจจุบัน คือ
- ทรัพย์สมบัติ หรือปัจจัยสี่ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ต่อการเลี้ยงชีวิต ของตน และคนในครอบครัว
- การทำตนให้อยู่ในหลักแห่งศีลธรรม และจรรยาที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมที่ตนอยู่อาศัย มียศ มีเกียรติ ตามฐานะ
- การทำหน้าที่ต่อบุคคลรอบข้าง ตามบทบาทฐานะของตน เช่น ฐานะลูกที่จะพึงปฏิบัติต่อพ่อแม่ ฐานะสามีภรรยา ที่จะพึงปฏิบัติต่อ ภรรยาสามี ฐานะพ่อแม่ ที่จะพึ่งปฏิบัติต่อลูก ฐานะบุคคลในสังคมที่จะพึงปฏิบัติต่อสังคมส่วนรวมที่ตนอยู่อาศัย เป็นต้น
เป้าหมายของชีวิตระดับแรกนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ธรรมชาติบังคับอยู่แล้วโดยส่วนหนึ่ง การบรรลุจุดหมายในชีวิตระดับนี้ จะทำให้ชีวิตได้รับความสุขภายนอก และทำให้ชีวิตมีความเป็นปกติ มีความเรียบร้อยดีงาม สิ่งสำคัญอยู่ที่ิวิธีการที่จะบรรลุจุดหมายดังกล่าว ต้องอาศัยธรรมเป็นสิ่งกำกับขับเคลื่อน ต้องเป็นไปโดยชอบธรรม มิเช่นนั้น ความสุขหรือการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็จะนำความเดือดร้อนวุ่นวายมาให้ชีวิตด้วย

๒. สัมปรายิกัตถะประโยชน์ จุดมุ่งหมายภายใน หรือจุดมุ่งหมายในอนาคต เพราะชีวิตมิได้มีแต่ส่วนกายภาพ หรือสังคมและบุคคลรอบข้าง ภายนอกอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนจิตใจที่สัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา โดยที่คุณภาพของจิตใจมีผลต่อการปฏิบัติต่อสิ่งภายนอกนั้นโดยตรงด้วย มีผลต่อความสุขในชีวิตที่ลึกซึ้งกว่าสุขที่เกิดจาก การบรรลุจุดมุ่งหมายภายนอกนั้นด้วย คุณธรรมภายใน จึงเป็นจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายของชีวิตในระดับที่สองนี้ คือ

๑. ศรัทธา การมีหลักความเชื่อที่ถูกต้อง เป็นแนวยึดถือปฏิบัติ
๒. ศีล มีพฤติกรรมความประพฤติ ทางกายวาจา ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่สร้างความร้อนอกร้อนใจแก่ตนเอง
๓.จาคะ การรู้จักขัดเกลาจิตใจตนเอง ด้วยความเสียสละ เือื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่นในสิ่งที่ถูกต้อง รู้จักมีเมตตา และให้อภัยผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เป็นผู้มีอัธยาศัยกว้าง มีจิตใจสะอาดปลอดโปร่ง
๔. ปัญญา คือ เป็นคนมีเหตุผลไม่งมงาย เชื่อง่าย เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ด้วยความเข้าใจ ไม่ด่วนสรุป พิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน แล้วปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นด้วยอำนาจของปัญญาความรู้ความเข้าใจนั้น

๓. ปรมัตถะประโยชน์ คือ จุดมุ่งหมายสูงสุด ได้แก่ ความบรรลุถึงแก่นแท้แห่งสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต เห็นชีวิต ที่ประกอบด้วยกายใจ หรือ ส่วนกายภาพ ส่วนนามธรรม ตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตน ไมใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนปล่อยวางสาเหตุแห่งความทุกข์ได้ตามลำดับ ชีวิตเป็นอิสระปลอดโปร่ง จากความยึดมั่นสำคัญผิด มีความสุขอย่างสมบูรณ์ ไม่ถูกครอบงำด้วยโลกธรรมคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ สูญยศ ถูกนินทา ประสบทุกข์ อยู่ในโลกแต่ไม่เป็นทุกข์ไปกับโลก

ภาพที่ ๔ เขาใช้เชือกมัดโค และยื้อยุดฉุดโค เพื่อทำให้โคเชื่องให้หายพยศ เขาต้องอาศัยเรี่ยวแรงกำลัง ต้องใช้ทั้งขันติ และสติปัญญา เพื่อให้ฝึกโคได้สำเร็จ เขาต้องทั้งเหน็ดทั้งเหนื่อย ทั้งต้องระวังไม่ให้โดนโคขวิดด้วย

ภาพนี้เปรียบเทียบ ได้กับการที่บุคคล ที่หลังจากรู้จุดมุ่งหมายในชีวิตแล้ว เริ่มลงมือฝึกฝนตนตามหลักธรรมปฏิบัติที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ในขั้นของการฝึกหัด ต้องอาศัยความอดทนอย่างหนัก ต้องทนต่อแรงยั่วยุของอำนาจความเคยชินทางใจเดิมๆ ที่จะทำให้ท้อถอย ท้อแท้ เพราะกิเลสมักจะดึงจิตดึงใจให้ไหลลงต่ำ ให้ละเลิกเพิกเฉย ต่อสิ่งที่จะนำพาชีวิตให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ดีงาม เสมอ

๖ ๕



ภาพที่ ๕ เขาจับโคและฝึกให้โคเชื่องหายพยศได้สำเร็จจึงจูงโคนำกลับไป

เปรียบเหมือน บุคคลที่ฝึกฝนตน จนบรรลุจุดมุ่งหมายได้บ้างแล้ว ได้รับความสุขความสำเร็จในชีวิต บ้างแล้ว แต่ยังต้องประคับประคองตนอยู่ ชีวิตจะยังประสบความทุกข์อยู่ จากอุปสรรคขัดข้องในหน้าที่การงาน แต่ก็มีความสุขมีความราบรืน เพราะเหตุแห่งความทุกข์ถูกกำจัดไปบ้างแล้วตามลำดับ
ถ้าพูดในแง่ของสัจธรรม บุคคลในระดับนี้ เห็นความจริงของชีวิตได้ส่วนหนึ่งแล้วว่า ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ความยึดมันยังไม่หมดอย่างสิ้นเชิง มีตัวตนที่เบาบางลงแล้ว และไม่มีความสงสัยในสัจธรรม


ภาพที่ ๖ โคหายพยศ ฝึกจนเชื่อง ชายหนุ่มสามารถนั่งเป่าขลุ่ยอย่างสบายอารมณ์บนหลังโค

เปรียบเหมือน บุคคลที่ฝึกฝนตนจนบรรลุจุดมุ่งหมายต่างๆ ได้มากขึ้น และไม่ต้องเหนื่อยกับการฝึกฝนตนมากเหมือนเมื่อก่อน อุปาทานความยึดมั่นสำคัญผิดเหลืออยู่น้อยมาก ความยึดมั่นสำคัญผิดว่ามีตัวมีตนเบาบางลงมาก กิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความเร่าร้อนวุ่นวายต่างๆ น้อยลง

๘ ๗



ภาพที่ ๗ เขากลับถึงบ้าน หมดภาระที่ต้องฝึกโคแล้ว

เปรียบเหมือน บุคคลที่แทบจะหมดภาระในการฝึกฝนตนแล้ว เกือบบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างสูงสุดในชีวิตแล้ว ความยึดมั่นในตัวตนเจือจางจนแทบมองไม่เห็น เป็นบุคคลผู้ไม่ติดอยู่ในความสุขทางกามคุณห้า ในทาง รูป เสียง กลิ่น รส และ การถูกต้องสัมผัสทางกาย เป็นเหมือนผู้หันหลังให้กับกามคุณอย่างสิ้นเชิง

ภาพที่ ๘ ภาระหน้าที่หมดสิ้นแล้ว เหลือเพียงความว่างเปล่า

ในภาพเหลือเพียงวงกลมที่ว่างเปล่า เปรียบเหมือน เป็นผู้เสร็จกิจหน้าที่ที่ต้องทำ สิ้นภาระส่วนตนแล้ว ไม่ต้องขวนขวายทำอะไรอีก เพราะความยึดมั่นในตัวตน ในกายในใจ ไม่เหลืออยู่แล้ว เป็นผู้จบกิจ บรรลุจุดมุ่งหมาย คือ ปรมัตถะประโยชน์ขั้นสูงสุด

๑๐ ๙



ภาพที่ ๙ ภาพต้นไม้ที่ผลิดอกออกใบ งอกงาม

เมื่อไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึั้นและเป็นไปในชีวิต คือ คุณธรรม ความเมตตา สติปัญญา จะงอกงามโดยส่วนเดียว เป็นผู้มีความสุข มีความเบิกบาน มีความสงบเย็นอย่างเต็มที่ เพราะหมดจดจากกิเลสเหตุแห่งความเศร้าหมองแล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่มีความทุกข์ หรือความเร่าร้อนวุ่นวายใดๆ เข้าถึงใจได้อีกต่อไป


ภาพที่ ๑๐ บุรุษเดินเที่ยวแจกตะเกียงแก่คนทั่วไป

เปรียบเหมือน เมื่อบุคคลบรรลุถึงจุดมุ่งหมายของตน ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความเมตตากรุณา และสติปัญญาที่มีอยู่ ก็จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่ โดยจะเผยแผ่ บอกวิธีการแห่งการนำตนออกจากทุกข์ที่ตนทำได้สำเร็จแล้ว แก่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นบรรลุถึงความสุข ความเย็น ความเบิกบาน เหมือนเช่นตนเองบ้าง ในภาพเขากำลังเที่ยวแจกตะเกียง เพราะตะเกียง เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งปัญญา ในเมื่อเขาพ้นจากความมืด คือความไม่รู้ ซึ่งเป็นเหตุแห่งกองทุกข์ใหญ่ ด้วยปัญญาคือแสงสว่างแล้ว เขาจึงเที่ยวแจกปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดความมืด ให้พบกับแสงสว่าง และส่องทางไปสู่ความพ้นทุกข์


หมายเหตุ

การแปลความหมายของภาพปริศนาธรรมนี้ อาจตีความหมาย หรือแปลความหมายได้หลากหลายนัยยะ ที่อธิบายไปนี้ เป็นการอธิบายความหมายอย่างสูงสุด ในความหมายตามที่อธิบายนี้ การดำเนินชีวิตที่อยู่ในครรลอง เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายเหล่านี้ ถือว่าเป็นมาตรฐานของชาวพุทธทั่วไปได้แล้ว แม้จะยังไปไม่ถึงที่สุดคือ ภาพที่ ๑๐ ก็ตาม

ถ้าไม่มุ่งความหมายอย่างสูงสุด เป็นความหมายทั่วๆ ไป อาจอธิบายได้อีกอย่างหนึ่่งว่า

ภาพที่ ๑ ยังไม่รู้ว่าชีวิตมีเป้าหมายอะไร
ภาพที่ ๒ เิริ่มแสวงหาเป้าหมาย
ภาพที่ ๓ รู้เป้าหมายในชีวิตแล้ว
ภาพที่ ๔ เริ่มลงมือเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
ภาพที่ ๕,๖,๗,๘ การบรรลุเป้าหมายไปตามลำดับ
ภาพที่ ๙ เป้าหมายที่ได้บรรลุแล้ว เริ่มให้ผลเป็นความสุข เป็นลาภ ยศ ต่างๆ
ภาพที่ ๑๐ เมื่อได้บรรลุความสำเร็จส่วนตนได้แล้ว ก็เริ่มทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น มีความเสียสละส่วนเกินเพื่อส่วนรวม มีสำนึกรับผิดชอบต่อบุคคลรอบข้าง และสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ เป้าหมายในชีวิต อาจจะไม่สูงเช่นการอธิบายข้างต้น แต่ก็อยู่ในครรลองแห่งธรรมะ ไม่เป็นเป้าหมายที่ไปถึงได้ด้วยการเบียดเบียนให้ผุ้อื่นเดือดร้อน และทำชีวิตของตนให้เร่าร้อน มุ่งที่เมื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย อันเป็นประโยชน์ส่วนตนบ้างแล้ว ก็ไม่ละเลยประโยชน์เพื่อส่วนรวม


วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

เรียนธรรมจากธรรมชาติ Sea scenery




ธรรมชาติ ให้ชีวิต



ธรรมชาติ ให้ความรื่นรมย์


ธรรมชาติ ให้การเกื้อกูล



นอกจากนี้ หากเห็นธรรมชาติ
โดยความเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง



และเห็น่โดยความเป็นสิ่งที่ไม่อาจดำรงอยู่โดยเอกเทศ



เพราะต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสิ่งอื่่นๆ เพื่อการดำรงอยู่ของตน



แล้วน้อมเข้ามาพิจารณาชีวิตของตน ที่ประกอบด้วย รูปนาม กายใจ
ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง


ธรรมชาติภายนอก ก็สามารถให้มุมมองทางสติปัญญา



ที่จะช่วยให้เห็นความจริงของชีวิต



ความจริงที่จะทำให้ปล่อยวางความยึดมั่น
อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง

ทางเดินภายในพื้นที่ (๙) Corridors within the area



ทางเดินขึ้นสู่เนินที่ราบชั้นกลาง และชั้นบน

เนื่องจากพื้นที่ภายในทีปภาวันธรรมสถาน ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเชิงเขา สิ่งปลูกสร้าง เช่น อาคารทีพัก หรืออาคารที่ประกอบกิจกรรมอื่นๆ จึงตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างระดับกัน ตามสภาพของพื้นที่แต่ละช่วง ว่าจะเอื้อให้สร้างอาคารสถานที่ เพื่อประโยชน์ใช้สอยแบบใด
การเดินจากอีกที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง จึงเป็นการเดินจากที่ต่ำไปยังที่สูง หรือจากที่สูงไปยังที่ต่ำ โดยมีทางเดิน บางช่วง ที่ปูด้วยอิฐบล๊อกรูปตัวหนอน และบางช่วง ที่เป็นบันได เป็นทางเดินเชื่อมต่อ ไปมาระหว่างอาคารในพื้นที่ต่างๆ ดังบางส่วน ที่ปรากฏในภาพ




มีความลาดเอียง และคดเคี้ยวไปตามสภาพพื้นที่



บางช่วงเป็นทางเรียบ บางช่วงเป็นบันได



ช่วงที่มีความชัน จะมีราวจับเป็นตัวช่วย เพื่อความสะดวกและปลอดภัย




บันไดทางเดินช่วงต่อ จากที่ราบชั้นกลาง สู่ศาลาปฏิบัติธรรม
ซึ่งตั้้งอยู่ชั้นบนสุด




วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ภูมิทัศน์บริเวณทางขึ้นสู่ลานธรรมขีรธารา (๘) On the upper area



ทางเดินออกด้านหลัง ทีปภาวันธรรมสถาน
ขึ้นสู่เขตสวนทุเรียน และลานธรรมขีรธารา



เดินต่อมาสักพัก เมื่อหันหน้ากลับอีกครั้งจะเห็นศาลาปฏิบัติธรรม



พื้นที่ก่อนเข้าสู่เขตเนินเขาที่เป็นสวนทุเรียน



บันไดทางเดินขึ้นสู่เขตสวนทุเรียน และลานธรรมขีรธารา
อาจจะเล็กและแคบ ดังนั้น หากเดินไม่ชำนาญต้องอาศัยไม้เท้าเค้ายันช่วยพยุง




กุฏิปลีกวิเวกสำหรับพระบนภูเขา หลังที่ ๑






ด้านหน้าของกุฏิ




มุมมองจากภายในกุฏิหันหน้าสู่ทะเล




ผาหินสูง อยู่ด้านซ้ายมือ ขณะเดินขึ้นสู่ลานธรรมขีรธารา




กุฏิปลีกวิเวกหลังที่สอง เน้นความเรียบง่าย สันโดษ
สำหรับพระผู้ต้องการปลีกวิเวกภาวนา




ไม้ใหญ่ผลิใบเขียวอ่อน บ่งบอกการเริ่มต้นวงจรชีวิตใหม่อันสดใส
ชีวิตแม้จะผิดหวัง ผิดพลาด ขอจงปล่อยวางให้ผันผ่าน เหมือนต้นไม้ที่สลัดใบเก่าให้ร่วงหล่น ขอเพียงเปิดใจรับธรรมะเข้าหล่อเลี้ยง ก็สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ และสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าได้เสมอ





กาะสมุย ดูเหมือนมากด้วยมนต์เสน่ห์ที่จับใจนักท่องเที่ยว
แต่นั่นเป็นเพียงเสน่ห์ทางรูปธรรม ที่มีวันจืดจาง และร่วงโรย
มาวันนี้ ทีปภาวันธรรมสถาน กำลังสร้างเสริมคุณค่า ในมิติทางจิตใจแก่เกาะสมุย
เป็นคุณค่าที่ยั่งยืน และไร้ผลกระทบข้างเคียง



มุมขวาของภาพ คือกุฏิปลีกวิเวกของพระหลังที่ ๒ อยู่ในเขตสวนทุเรียน โดยมีทางน้ำ
ธรรมชาติที่ไหลลงจากเขาอยู่ข้างๆ ท่ามกลางโอบกอดของป่าธรรมชาติที่เขียวชอุ่ม บริเวณเทือกเขาด้านข้าง และด้านหลัง พร้อมทั้งผืนทะเลกว้างที่อยู่เบื้องหน้า





จากลานธรรมขีรธารา ที่ระดับความสูง ๕๕๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
จะเห็นทีปภาวันธรรมสถาน ตั้งอยู่ระหว่างเนินเขา
ท่ามกลางความเขียวขจีของหมู่ไม้ และกลุ่มต้นมะพร้าว เอกลักษณ์ของเกาะสมุย