วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สวนธรรมเภรี





โขดหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางเข้าสวนธรรมเภรี


สวนธรรมเภรี เป็นอีกหนึ่งสับปายะสถาน ที่ทางทีปภาวันธรรมสถาน ได้สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรมะภาคจิตภาวนาสำหรับประชาชน และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมที่ทีปภาวันธรรมสถานได้สถานที่ฝึกอบรมที่มีบรรยากาศเอื้ออำนวยให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติ



หลวงพ่อโพธิ์นำปฏิบัติจิตภาวนาที่สวนธรรมเภรี



ศาลาที่พักสงฆ์



มุมมองจากสวนธรรมเภรี ที่เห็นอยู่ไกลออกไปคือเกาะแตน
สวนธรรมเภรี ตั้งอยู่บนเขาป้อม บนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ๔๗๐ เมตร อยู่ห่างจากจุดกึ่งกลางและจุดสูงที่สุดของเกาะประมาณ ๒ กิโลเมตร สามารถมองทิวทัศน์ได้ไกลรอบด้าน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ด้านทิศใต้ ซึ่งมีรัศมีการมองเห็นเปิดกว้างที่สุด สามารถมองเห็นเกาะแตนที่อยู่ถัดจากเกาะสมุยออกไปอย่างชัดเจน

โขดหินภูเขารูปทรงต่างๆ ตั้งอยู่อย่างได้ส่วนได้มุม
พื้นที่บริเวณสวนธรรมเภรี ประกอบด้วยประติมากรรมหินภูเขาธรรมชาติ ขนาดและรูปร่างต่างๆ บริเวณพื้นราบ มีกลุ่มต้นทุ้งฟ้า (เป็นสำเนียงใต้ร่นมาจาก กระทุ้งฟ้า หมายถึงสูงพุ่งขึ้นฟ้า) ต้นไม้พื้นถิ่น สูงปกคลุมทั่วบริเวณ แต่ไม่หนาแน่นจนเกินไป ทำให้สามารถวางระยะห่าง ของฐานที่นั่งสมาธิภาวนาแต่ละฐานได้พอดี อีกทั้งความสูงชะลูดของต้นทุ้งฟ้าแต่ละต้น ทำให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้ทุกทิศ ผู้ปฏิบัติจึงสามารถสัมผัสกับความเย็นและสดชื่น จากสายลมที่พัดมากระทบกายขณะนั่งฝึกสมาธิ ซึ่งสามารถสร้างความผ่อนคลายให้กับกายและจิต อันเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่สำคัญของการฝึกสมาธิ

ภาพมุมไกล ขณะผู้เข้ารับการอบรม กำลังนั่งสมาธิภาวนา
ท่ามกลางกลุ่มต้นทุ้งฟ้า

ปัจจุบัน สวนธรรมเภรี นอกจากเป็นหนึ่งในสถานที่สำหรับฝึกอบรมจิตภาวนา สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ทีปภาวันธรรมสถาน ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศแล้ว ทุกวันอาทิตย์ที่ ๑ และที่ ๓ ของเดือน คณะครูจากโรงเรียนหลายโรงเรียน ทั่วเกาะสมุย ยังได้นำนักเรียนเยาวชนรุ่นเล็ก ระดับประถมศึกษา ขึ้นมารับการอบรมศีลธรรม ภาคจิตภาวนาเบื้องต้น

บรรยากาศขณะฝึกอบรม ณ สวนธรรมเภรี ท่ามกลางบรรยากาศ
สวนป่า สายลม แสงแดด แมกไม้

ผู้ปฏิบัติ เลือกมุมสงบสบายตามอัธยาศัย
ด้วยเหตุนี้ ธรรมเภรี จึงมีบทบาทอีกอย่างหนึ่ง ในการเป็นแหล่งเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตวิญญาณ ให้เด็กๆเหล่านี้ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ของสังคม ได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีแรงต้านทาน ต่อสิ่งยั่วยุรอบด้านที่จะชักนำชีวิตไปสู่มุมมืด

ผู้เข้าคอร์สภาวนา หาสุขได้จากทุกข์ ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับหลวงพ่อ
ธรรมเภรี หมายถึง กลองแห่งพระธรรม เป็นกลองที่กำลังลั่นเสียงแห่งธรรมะของพระพุทธองค์ ให้ดังระบือไกลไพศาลไปทั่วทุกทิศานุทิศ หากผู้ได้ยินเสียงแห่งธรรมนั้น เงี่ยโสตสดับจับใจความ แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติตาม ชีวิตก็จะได้พบกับที่พึ่งอันเป็นแก่นสาร ไม่ฉาบฉวยชั่วคราว เหมือนมายาทั้งหลายที่กำลังลวงใจไว้กับความทุกข์
ในวันที่ไม่มีการจัดการอบรม บรรยากาศแห่งสวนธรรมเภรีอาจจะดูเงียบงัน แต่ธรรมเภรีก็ยังคงลั่นเสียงแห่งธรรม ให้อาคันตุกะผู้สัญจรผ่านและเข้าไปเยี่ยมชมได้รับฟัง จากต้นทุ้งฟ้าที่รับหน้าที่ป่าวประกาศอยู่ตลอดเวลา

ลานธรรมขีรธารา






พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระภาวนาโพธิคุณ หรือ

หลวงพ่อโพธิ์นำปฏิบัติจิตภาวนาที่ลานธรรมขีรธารา

ลานธรรมขีรธารา เป็นมุมปฏิบัติอันสงบเงียบอีกแห่งหนึ่งของทีปภาวันธรรมสถาน ที่ตั้งอยู่บนไหล่เขาสูง โดยมีเทือกเขาโอบรอบสองด้าน มีทิวทัศน์เบื้องหน้าเป็นเชิงเขาที่เขียวครึ้มด้วยหมู่ไม้ ค่อยๆทอดต่ำสู่พื้นเบื้องล่าง ประกอบกับท้องฟ้าและทะเลที่ปรากฏอยู่ถัดไป เป็นฉากหลังในกรอบการมองของสายตา ทำให้เกิดเป็นมุมมองที่มีมิติ ความลึก กว้าง ไกล เกลี่ยให้เกิดสมดุลทางความรู้สึก ไม่เป็นทิวทัศน์ที่สวยแต่เรียบด้าน หรือแข็งทื่อ



มุมมองทิวทัศน์จากลานธรรมขีรธารา

หากสภาพอากาศอำนวยหลวงพ่อโพธิ์ จะนำผู้ปฏิบัติทั้งชาวไทยและชาวต่างปฏิบัติ ขึ้นมาปฏิบัติ ในวันท้ายๆ ของการอบรม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้เปลี่ยนบรรยากาศ ซึ่งการได้ปฏิบัิติท่ามกลางสภาพธรรมชาติดั้งเิดิม ที่ไร้การปรุงแต่งนั้น ผู้ปฏิบัติจะได้เรียนรู้ว่า มีส่วนเหนี่ยวนำใจให้เกิดสติและความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น

ผู้เข้าคอร์ส นั่งเจริญจิตภาวนาที่ลานธรรมขีรธารา ฝั่งซ้าย

ลานธรรมขีรธารา อยู่ห่างจากทีปภาวันธรรมสถานประมาณ ๕๐๐ เมตร โดยเดินออกไปตามเส้นทางที่ตัดผ่านทีปภาวันธรรมสถาน ออกไปสู่เชิงเขาด้านหลัง เมื่อเดินไปได้สัก ๒๐๐ เมตร ทางก็จะเริ่มสูงชัน และเพื่อความปลอดภัย ทางสำนักได้จัดไม้เท้าสำหรับค้ำยันไว้ให้ทุกคน ก่อนหน้านี้แล้ว



ผู้ปฏิบัติที่ลานธรรมขีรธาราฝั่งขวา

แม้ทางเดินขึ้นจะสูงชัน แต่ก็เป็นขั้นบันไดปูนซีเมนต์ ให้สามารถเดินวางเท้าได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ทางสำนัก ก็จะประเมินสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติมาก่อนหน้านี้แล้วว่า จะเดินขึ้นไหวหรือไม่ ซึ่งการประเมินร่างกายนั้น ไม่เกี่ยวกับวัยหรืออายุ เพราะมีคุณยายอายุ ๘๓ ปี เดินขึ้นจนถึงลานธรรมขีรธารามาแล้ว


หลวงพ่อนำคณะขึ้นเขา เพื่อปฏิบัติจิตภาวนาที่ลานธรรมขีรธารา


การเดินขึ้น เป็นทั้งการออกกำลังกาย และหากทำสติกำกับ ก็จะเป็นการเดินจงกรมไปพร้อม ทำให้ได้อุ่นเครื่องกรรมฐานไปในตัว เมื่อเดินถึงลานธรรมขีรธาราแล้ว จิตก็พร้อมที่จะได้รับการฝึกฝนด้วยรูปแบบของอานาปานสติกรรมฐาน ลมหายใจย่อมจะปรากฏชัด และไม่ติดขัด เพราะการเดินขึ้นสู่ที่สูงชัน ทำให้ระบบหายใจทำงานหนักขึ้น ร่างกายได้ฟอกปอด เมื่อได้หยุดพักหลังจากเดินถึงแล้ว ระบบการหายใจก็จะเข้าที่และเรียบสม่ำเสมอ



คุณยายรอง อายุ ๘๓ ปี ผู้ปฏิับัติขาประจำ ยังแข็งแรง เดินขึ้นสู่ลานธรรมขีรธาราได้สบาย


ธรรมขีรธารา มีความหมายว่า สายน้ำนมแห่งพระธรรม หลวงพ่อโพธิ์ ท่านตั้งชื่อนี้ คงมีนัยแฝงในแง่ที่ว่า ร่างกายของคนเรา เติบใหญ่ขึ้นมาได้ ด้วยการหล่อเลี้ยงจากน้ำนมของมารดา ส่วนจิตวิญญาณจะเติบโตได้ ก็ต้องอาศัยการหล่อเลี้ยงจากน้ำนมคือพระธรรมนั้นเอง เราดื่มน้ำนมมารดา โดยการป้อนจากมารดา แต่น้ำนมคือ พระธรรมนั้น เราต้องขวนขวายหามาหล่อเลี้ยงตนเอง ด้วยความพากเพียรในทางแห่งการศึกษาพระธรรม แล้วปฏิบัติตาม เพื่อให้จิตวิญญาณของเรา เติบใหญ่และเข้มแข็ง เป็นจิตวิญญาณที่สามารถต้านทานและรับมือกับความทุกข์ได้ทุกรูปแบบ