วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

เหตุเกิดที่ระเบียงกุฏิ

กับดักความคิด

พื้นที่ว่างระหว่างต้นเสาสองด้านของระเบียงหน้ากุฏิ กลายเป็นทำเลเหมาะของแมงมุมท้องแดง ที่มาชักใยเป็นตาข่ายขนาดใหญ่ เพื่อดักเหยื่อที่เคราะห์ร้าย คือแมลงต่างๆ ที่บินผ่านไปมา แมงมุมท้องแดง เรียกชื่อตามสีแดงสดที่ปรากฏเด่นชัดบริเวณท้องและหน้าอก แมงมุมท้องแดงจะไม่ดักรอเหยื่ออยู่กลางตาข่ายตลอดเวลา แต่จะไต่ตามเส้นใยไปดักรอเหยื่ออยู่ที่นอกตาข่าย บริเวณด้านในของเชิงชายที่ติดกับริมหลังคา และจะไต่ลงมาจัดการกับเหยื่อชะตาขาดที่บินมาติดที่เส้นใย หลายครั้งที่กะจะให้มันวิ่งออกมาจากที่หลบซ่อน จึงใช้มือแตะเบาๆ ที่เส้นใย เพื่อให้มันเข้าใจว่าเหยื่อติดกับแล้ว จะได้วิ่งออกมาดู แต่อุบายนี้ก็ไม่ได้ผลสักที บางครั้งเหยื่อของมันที่มีขนาดโตพอๆ กับมัน เช่นแมลงปอ ก็จะบินมาติดตาข่าย ความเล็กบางใส และเหนียวของเส้นใย ทำให้ยากที่แมงปอจะมองเห็น หรือดิ้นหลุดไปได้

สัตว์ต้องใช้ชีวิตดิ้นรนต่อสู้ด้วยความยากลำบาก จึงจะสามารถมีชีวิตอยู่เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ และถึงแม้จะมีมันสมองและความฉลาดน้อยกว่ามนุษย์ แต่ธรรมชาติก็ได้สร้างความสามารถเฉพาะด้านมาให้กับสัตว์แต่ละชนิด ในขณะที่มนุษย์มีมันสมองที่ปราดเปรื่อง แต่ความสามารถหลายอย่างก็ด้อยกว่าสัตว์ เช่น ความสามารถในการได้ยิน ความสามารถในการมองเห็น ความอดทนต่ออุณหภูมิของบรรยากาศ ความสามารถในการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยไม่ต้องหยุดพักเลย ความสามารถในการรับรู้กลิ่น ความสามารถในการเคลื่อนไหว ความสามารถในการจดจำสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ความสามารถเหล่านี้มนุษย์เราด้อยกว่าสัตว์หลายชนิด ถ้ามนุษย์สักคนมีความสามารถบางอย่างไปคล้ายกับสัตว์ เขาก็จะกลายเป็นมนุษย์มหัศจรรย์ หรือ ซุปเปอร์แมน ไปเลยทีเดียว

ความสามารถในการจินตนาการ การใช้เหตุผลและความคิดสร้างสรรค์ ของมนุษย์อาจกลายเป็นดาบสองคมในบางครั้ง หากคนๆ นั้นคิดจนหยุดไม่ได้ หากคิดจินตนาการจนเกินขอบเขต หากคิดแต่เรื่องร้ายๆ คิดเรื่องที่จะนำความลำบากเดือดร้อนมาให้ตนเอง

เมื่ออายุมากขึ้น วัยเพิ่มขึ้น ประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น คนๆหนึ่งจึงรับรู้ และซึมซับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เอาไว้มาก ทำให้มีความทรงจำที่จะนำไปปรุงแต่งได้มาก ทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย เมื่อคิดบ่อยเข้า ก็กลายเป็นอดคิดไม่ได้ และควบคุมความคิดไม่ได้ในที่สุด ความคิดจนเกินขอบเขต จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ และเป็นสิ่งบั่นทอนความปกติสุขในชีวิต

หากนึกถึงตอนที่อยู่ในช่วงวัยเด็ก จะเห็นว่าคนเราไม่ค่อยเป็นทุกข์กับอะไรนานๆ สามารถลืมสิ่งที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า เพราะตอนที่เป็นเด็ก ยังไม่มีความรับผิดชอบอะไรมาก แค่กินๆ นอนๆ เรียนๆ เล่นๆ แต่ถ้าสังเกตให้ดี แม้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความรับผิดชอบหรือหน้าที่การงานอะไรเลย ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังทุกข์นานกว่าตอนเป็นเด็กเช่นเดิม

ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่า เด็กเก่งกว่า หรือดีกว่าผู้ใหญ่ในเรื่องนี้ เพราะหากเด็กคนไหนเติบโตขึ้นมา ในสังคมที่มีบริบทหรือสิ่งแวดล้อม แบบเดิมกับที่ผู้ใหญ่ในยุคนี้ผ่านมา เด็กคนนั้นก็ต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นทุกข์ เพราะความคิดของตนเองเช่นกันในอนาคต จึงน่าตั้งคำถามว่า คนเราสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความรับผิดชอบมาก และหน้าที่การงานมากขึ้น โดยไม่ทุกข์มากขึ้นได้ไหม และจะทำอย่างไร

ถ้าหากยังเป็นทุกข์เพราะความคิดอยู่ ก็แสดงว่าการฝึกฝนพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตที่จำเป็นด้านต่างๆ ที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ ชีวิตยังขาดการเรียนรู้ วิธีคิดให้เป็น วิธีควบคุมความคิด วิธีคิดเท่าที่จำเป็น วิธีการหยุดคิด และวิธีรู้เท่าทันความคิด

- การคิดเป็น ทำให้ความคิดไม่นำความเดือดร้อนมาให้ และสามารถบรรลุเป้าหมายที่เป็นประโยชน์สุขเพื่อชีวิต

- การควบคุมความคิดเป็น ทำให้ไม่ถูกความคิดเกินขอบเขตชักพาไป ให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยจนหาที่ลงไม่ได้ หรือวิตกกังวลจนหาความสงบไม่ได้

- การคิดเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่เหน็ดเหนื่อยเปล่ากับความคิดของตน

- การหยุดคิดเป็น ทำให้จิตได้พักผ่อน เพิ่มพลังให้กับจิต

- การรู้เท่าทันความคิดทำให้ไม่หลงความคิดตัวเอง ไม่ถือว่าความคิดเห็นของตนเองสำคัญหรือถูกต้องที่สุด จนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ ซึ่งอาจจะถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่า และจะไม่ถูกความคิดครอบงำ จนปิดกั้นการเข้าไปรู้เห็นความเป็นจริงที่อยู่เหนือความคิด

หากสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ให้กับชีวิต มนุษย์ก็จะใช้ประโยชน์จากความคิด โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความคิด ไม่ติดกับความคิดของตนเอง เหมือนแมงมุมท้องแดง ใช้ประโยชน์จากเส้นใย แต่ไม่เคยติดตาข่ายที่เป็นเส้นใยของตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น